การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสลับภาษาของชาวไทดำที่อาศัยอยู่ในตำบลสระพัฒนา อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมตามปัจจัยด้านอายุและวัจนลีลา และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อที่มีต่อการสลับภาษาและการสลับภาษาในชีวิตประจำวัน โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ การสังเกตการณ์พร้อมทั้งบันทึกเสียง และการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการพรรณนาเชิงวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่ามีการสลับภาษา 4 ประเภทคือ การสลับภาษาในระดับคำหรือวลี การสลับภาษาภายในประโยค การสลับภาษาระหว่างประโยค และการสลับภาษาระดับข้อความที่ยาวกว่าประโยค โดยการสลับภาษามีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ เพื่อให้เกิดการรับรู้คำศัพท์ร่วมกัน แสดงความเป็นพวกพ้องทางสังคม และเแสดงทัศนคติหรืออารมณ์ สำหรับปัจจัยด้านอายุและวัจนลีลาพบว่าต่างก็มีผลต่อความถี่ของการสลับภาษาที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยังพบว่าความเชื่อและการสลับภาษาในชีวิตประจำวันไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไป งานวิจัยชิ้นนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการศึกษาการสลับภาษาในภาษาอื่นๆตามแนวภาษาศาสตร์เชิงสังคม