งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบกลวิธีการปฏิเสธการขอร้องของอาจารย์ระหว่างนักศึกษาไทยกับนักศึกษาจีน ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการใช้แบบทดสอบเติมเต็มบทสนทนา(discourse completion test) โดยทดสอบกับนักศึกษาไทยชั้นปีที่ 2 ของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำนวน 100 คน และนักศึกษาจีนชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยชนชาติกวางสี จำนวน 100 คน
ผลการวิจัย พบว่า นักศึกษาไทยและนักศึกษาจีนใช้กลวิธีการปฏิเสธตรงและการปฏิเสธอ้อม ทั้งนี้ จำแนกได้ว่าการปฏิเสธตรงของนักศึกษาทั้งสองประเทศมี 2 กลวิธีได้แก่ การปฏิเสธตรงโดยตรง เช่น “ไม่ได้ครับ” และการปฏิเสธตรงโดยนัย เช่น “ผมไม่ว่างครับ” สำหรับการปฏิเสธอ้อมมี 7 กลวิธีได้แก่ การขอโทษ การให้เหตุผล การเสนอทางเลือก การแสดงความยินดีและความปรารถนาดี การแสดงความเสียใจและความห่วงใย การใช้คำเรียกขาน และการใช้คำอุทาน ผู้วิจัยได้จัดรูปแบบการปฏิเสธ 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.การปฏิเสธตรง 2.การปฏิเสธตรง + การปฏิเสธอ้อม 3. การปฏิเสธอ้อม+ การปฏิเสธตรง 4. การปฏิเสธโดยอ้อม 5.การปฏิเสธอ้อม+การปฏิเสธอ้อม จากการเปรียบเทียบกลวิธีการปฏิเสธปรากฏว่า นักศึกษาไทยและนักศึกษาจีนใช้กลวิธีการปฏิเสธตรงมากกว่าการปฏิเสธอ้อม สำหรับการเปรียบเทียบรูปแบบการปฏิเสธตรงระหว่างนักศึกษาไทยและนักศึกษาจีนพบว่า นักศึกษาไทยและนักศึกษาจีนใช้รูปแบบการปฏิเสธตรงแบบที่ 3 มากที่สุด แต่นักศึกษาจีนปรากฏความถี่ในการใช้มากกว่านักศึกษาไทย ในขณะที่นักศึกษาไทยปรากฏความถี่ในการใช้รูปแบบการปฏิเสธตรงแบบที่ 1-2 มากกว่านักศึกษาจีน ผลการศึกษาพบว่า ทั้งนักศึกษาจีนและนักศึกษาไทยใช้กลวิธีการปฏิเสธตรงมากกว่ากลวิธีการปฏิเสธอ้อม ซึ่งทำให้เห็นว่าสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลง วัจนกรรมการปฏิเสธของคนก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน ส่วนนักศึกษาไทยและนักศึกษาจีนจะใช้รูปแบบการปฏิเสธที่ต่างกัน อาจมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองฝ่ายต่างปรากฏให้เห็นถึงความพยายามที่ใช้กลวิธีการปฏิเสธอ้อมประกอบกันด้วย ทำให้เห็นถึงความพยายามของคนรุ่นใหม่ยังคงรักษาความสุภาพรวมไปถึงวัฒนธรรมตะวันออกดั้งเดิมไว้เช่นกัน